ข้อมูลไหลน้ำพี้ นักวิชาการ
อีกทั้ง เมื่อโดนความเย็นวัตถุดังกล่าวได้เกาะตัวรวมกันเป็นก้อนกลมเหมือนก้อนนิลสีดำที่ถูกเจียรนัยแล้ว ลักษณะผิวของวัตถุชิ้นนี้มีความมันแวววาวกว่าก้อนนิลที่ถูกนำมาเป็นเครื่องประดับ แต่หากเป็นก้อนหินที่มีสีขาวคล้ายหินปูน เมื่อผ่านกระบวนเช่นเดียวกันจะกลายเป็นสีเขียว มีความมันวาวเช่นกัน
ทั้งนี้ ดร.อดิชาติ ได้หยิบก้อนหินขึ้นมาดูและสัมผัส พร้อมกล่าวว่า หินดังกล่าวเรียกว่าแร่ซิลิก้า สำหรับไหลดำน้ำพี้ เป็นชื่อที่ชาวบ้านอาจตั้งกันเอง ภายในก้อนหินดังกล่าวประกอบด้วยแร่หลายชนิดทั้ง ควอทซ์ หรือซิลิก้า เซอร์เพนทีนและแร่เหล็ก เป็นหินที่นับว่าหายากมากในโลกนี้ ในทวีปเอเชีย มีเฉพาะที่ประเทศไทยและจีน ซึ่งไทยพบเพียง 2 จังหวัดคือ จ.อุตรดิตถ์ และน่าน ในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์พบที่ อ.เมืองอุตรดิตถ์ อ.ท่าปลา อ.น้ำปาด ส่วน จ.น่านพบที่ อ.แม่จริม อ.นาน้อย และอ.นาหมื่น
สำหรับหินชนิดนี้เดิมทีอยู่ใต้ทะเลมีอายุกว่า 1,300 ล้านปี และอยู่ลึกใต้พื้นผิวโลกมากกว่า 100 กิโลเมตร แต่มีขบวนการทางธรณีวิทยาทำให้เกิดอยู่บนพื้นผิวโลกมาแล้วกว่า 130-150 ล้านปีที่ผ่านมา ถือเป็นสิ่งที่ดีที่มีการค้นพบแร่ชนิดนี้ในประเทศไทย นับว่าเป็นขบวนการทางธรณีวิทยาที่สำคัญของโลก ที่แผ่นเปลือกโลกทั้ง 2 ทวีป ได้มีการเคลื่อนตัวมาชนกัน ทำให้แผ่นดินในพื้นที่ดังกล่าวที่เคยอยู่ใต้ท้องทะเลกลับดันตัวเองขึ้นมาสู่พื้นผิวโลกสัมผัสกับอากาศ ทำให้ปรากฏเป็นหลักฐานชี้ชัดและเป็นหลักฐานถึงทางธรณีวิทยาของเปลือกโลกว่า ในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ และ จ.น่าน โดยเฉพาะจุดที่พบหินดังกล่าว เคยเป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกเมื่อในอดีตเมื่อ 130 ล้านปีที่แล้ว
ดร.อดิชาติ กล่าวว่า สำหรับคุณค่าของหินขึ้นอยู่กับว่าหินแต่ละก้อนมีความหนาแน่นของแร่ประเภทไหน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามคุณสมบัติ สาเหตุที่หินเมื่อถูกความร้อนแล้วกลายเป็นสีดำและสีเขียวนั้น เนื่องมาจากแร่ซิลิก้าเป็นแร่ชนิดเดียวที่นำมาทำเป็นกระจกใสหรือขวดแก้วใส แต่ถูกธรรมชาติทำความสะอาดให้แล้ว หากมีแร่ซอร์เพนทีนซึ่งเป็นสีเขียวผสมอยู่ด้วย เมื่อเป่าลนด้วยความร้อนประมาณ 1,000 องศาขึ้นไป แร่จะไหลออกมาเป็นสีเขียวปนใส แร่ซิลิก้าหากอยู่ปนกับแร่เหล็กและดินผสมอยู่ ภาษาวิทยาศาสตร์เรียกว่า มลทิน เมื่อถูกนำมาลนด้วยความร้อนจะไหลออกมาเป็นสีดำทึบแสงเหมือนนิล แต่มีความมันเงาและแวววาวกว่านิล เนื่องจากมีแร่ซิลิก้าผสมอยู่ หากมีแร่ซิลิก้าผสมกับซอร์เพนทีนและแร่เหล็ก เมื่อถูกเผาก็จะออกมาเป็นอีกสีหนึ่งที่แปลกแตกต่างกันออกไป เนื่องจากส่วนผสมของแร่ชนิดนั้นมากหรือน้อย
สำหรับเรื่องที่ชาวบ้านเชื่อว่า สามารถแก้คุณไสยแก้อาถรรพ์ และสามารถรักษาหรือดูดซับพิษจากสัตว์ที่มีพิษกัดต่อยหรือใครมีไว้ครอบครองจะเกิดโชคลาภ ก็เป็นไปในเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคล แต่ผลทางวิทยาศาสตร์ก็ว่ากันไปในรูปแบบหนึ่ง ไม่สามารถไปห้ามความเชื่อชาวบ้านได้ เพราะเป็นวัฒนธรรมความเชื่ออย่างหนึ่ง แร่ชนิดนี้เหมาะที่จะนำมาทำเป็นเครื่องประดับเพราะมีความสวยงามดี อยู่ที่ฝีมือของช่างในการแปรสภาพให้ออกมาเป็นเครื่องประดับ ดร.อดิชาติ กล่าว