ครูบาศรีวิชัย องค์เล็ก แร่น้ำพี้
ครูบาศรีวิชัย
(หมด)
องค์เล็ก หล่อจากแร่น้ำพี้แร่ศักดิ์สิทธิ์ของ จ.อุตรดิตถ์
ความสูงจากฐาน 2 นิ้วครึ่ง ความกว้างหน้าตัก 1นิ้วครึ่ง ความกว้างจากฐาน 41/2เซนติเมตร
ครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือของประเทศไทย (ล้านนา) ว่าเป็น "ตนบุญ" หรือ "นักบุญ" อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาจพบว่ามีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ทุเจ้าสิริ (อ่าน "ตุ๊เจ้าสิลิ") แต่พบว่าท่านมักเรียกตนเองเป็น พระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ
ครูบาศรีวิชัย เดิมชื่อ เฟือน หรืออินท์เฟือน บ้างก็ว่าอ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้นปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน 9 เหนือ (เดือน 7 ของภาคกลาง) ขึ้น 11 ค่ำ จ.ศ. 1240 เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ที่หมู่บ้านชื่อ "บ้านปาง" ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน คือ
- นายไหว
- นางอ้วน
- นายอินท์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย)
- นางแว่น
- นายทา
ทั้งนี้นายควายบิดาของท่านได้ติดตามผู้เป็นตาคือ หมื่นปราบ (ผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้างของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์ (เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7 ช่วง พ.ศ. 2414-2431) ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควายอยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน
ในสมัยที่ครูบาศรีวิชัยหรือนายอินท์เฟือนยังเป็นเด็กอยู่นั้น หมู่บ้านดังกล่าวยังกันดารมากมีชน กลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ 17 ปีได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ครูบาขัตติยะ (ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาแฅ่งแฅะ เพราะท่านเดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา ในช่วงนั้น เด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ 18 ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ อารามแห่งนี้โดยมีครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ 3 ปีต่อมา (พ.ศ. 2442) เมื่อสามเณรอินท์เฟือนมีอายุย่างเข้า 21 ปี ก็ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า สิริวิชโยภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย (บางครั้งก็พบว่าเขียนเป็น สรีวิไชย สีวิไช หรือ สรีวิชัย)
เมื่ออุปสมบทแล้ว สิริวิชโยภิกขุก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปางอีก 1 พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำอีกด้วย และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน ครูบาศรีวิชัยรับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแตเป็นเวลา 1 พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ. 2444 อายุได้ 24 ปี พรรษาที่ 4 ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป (บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัยจึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ 5 ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน
ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ 26 ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง 5 เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง 7 คือ
- วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง,
- วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา,
- วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ,
- วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก,
- วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย,
- วันศุกร์ ไม่ฉันเทา (อ่าน "เตา"-สาหร่ายน้ำจืดคล้ายเส้นผมสีเขียวชนิดหนึ่ง),
- วันเสาร์ ไม่ฉันบอน
นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิกและผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง 4 จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก
คำสอนที่สำคัญ
ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า "...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว..." และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายของคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง
อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่ วัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 5 เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ
แร่ศักดิ์สิทธิ์แร่น้ำพี้ จ.อุตรดิตถ์ จากตำราพิชัยสงคราม กล่าวไว้ดังนี้
1. เหล็กน้ำพี้เป็นของขลัง มีของดีในตัวเองทุกอนูมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง
2. เหล็กน้ำพี้เป็นของอาถรรพณ์ เร้นลับ และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ทุกๆ อณู
3. เหล็กน้ำพี้เป็นเหล็กอาถรรพณ์ ใช้ล้างอาถรรพณ์ได้นับนานาประการ แม้ผู้มีวิชาอาคมแกร่งกล้าฟันแทงไม่เข้า ก็ถูกเหล็กน้ำพี้ล้างอาถรรพณ์มานักต่อนักแล้ว
4. เหล็กน้ำพี้สามารถป้องกันภูติผีปีศาจได้ วิญญาณ ภูติผี ปีศาจไม่กล้าเข้าใกล้
5. เหล็กน้ำพี้กันมนต์ดำ วิชาเดรัจฉานวิชา ป้องกันได้